Logo

รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับคณะ/วิทยาเขต/วิทยาลัย ปีการศึกษา 2564

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์


บทสรุปผู้บริหาร

จากการดำเนินงานของวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในกลุ่ม ค2 (สถาบันเฉพาะทางที่เน้นระดับปริญญาตรี) ได้คะแนนการประเมินตนเอง  คะแนนเฉลี่ย  3.92 อยู่ในระดับดี  โดยมีรายละเอียดผลการดำเนินงานทั้ง 5 องค์ประกอบ ดังนี้

     องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีระบบและกลไกการเปิดหลักสูตรตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนดโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา และดำเนินการตามระบบ  ที่กำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา และเพื่อให้การบริหารงานด้านวิชาการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 1 เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย  3.80  อยู่ในระดับดี

     องค์ประกอบที่ 2 งานวิจัย มหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยญาณสังวรเพื่อวางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์งานวิจัย โดยจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ ทางวิทยาลัย  ศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีการส่งเสริมการทำวิจัยของอาจารย์ และอาจารย์ผู้สอนมีความสนใจเรื่องการทำวิจัย ดังมีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 2 เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย  3.06  อยู่ในระดับปานกลาง

          องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีการจัดโครงการบริการทางวิชาการแก่สังคม แต่โครงการมีการบูรณาการในเรื่องของการวิจัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนและสังคม วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงมีการวางแผนการจัดทำโครงการให้บูรณาการกับการเรียนการสอนในปีการศึกษาต่อไป และผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 3 เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 4.00 อยู่ในระดับดี

          องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายและแนวทางการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มีโครงการบูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษา และสรุปการดำเนินงานโครงการด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 4 เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย  5.00  อยู่ในระดับดีมาก

            องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีทิศทางการดำเนินงานและสามารถถ่ายทอดไปยังบุคลากรทุกระดับ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโดยมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และต้องบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ เช่น ทรัพยากรบุคคล ระบบฐานข้อมูล การบริหารความเสี่ยง การบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารทรัพยากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 5 เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 5.00 อยู่ในระดับดีมาก

บทนำ

1.1 ชื่อหน่วยงาน ที่ตั้ง และประวัติความเป็นมาโดยย่อ

1.1.1  ชื่อหน่วยงาน

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์

          ภาษาไทย :       มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์

                             อักษรย่อ  คือ มมร.วศก.

          ภาษาอังกฤษ :   Mahamakut Buddhist University, Kalasin  Buddhist  College.

                            อักษรย่อ  คือ MBU. KBC.

 1.1.2  สถานที่ตั้ง

                    มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  ตั้งอยู่  เลขที่ 84/1 วัดประชานิยม  ถนนถีนานนท์   ตำบลกาฬสินธุ์  อำเภอเมืองกาฬสินธุ์  จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 โทร.0-4301-0379  Website.http://mbukalasin.com

          1.1.3  ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป

                   ในปีพุทธศักราช 2543 พระเดชพระคุณพระราชญาณเวที (บัวศรี  ชุตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดประชานิยม  เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) (ปัจจุบันสมณะศักดิ์พระเทพสารเมธี) พร้อมด้วยคณะสงฆ์ทายกทายิกาชาวจังหวัดกาฬสินธุ์เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาในระดับปริญญาเป็นโอกาสอันดีที่พระภิกษุสามเณรและฆราวาสภายในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียงจะได้มีโอกาสศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์  จึงได้ขออนุมัติจัดตั้งศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์  สังกัดของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยวิทยาเขตร้อยเอ็ดและได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งเป็นศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์ตามมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยครั้งที่ 2/2544   มติที่ 15 / 2544  เรื่องโครงการจัดตั้งศูนย์บริการการศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์

                   ศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์ได้เปิดรับสมัครพระภิกษุสามเณรและบุคคลทั่วไป  เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีเมื่อวันที่  18 เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช  2544 มีจำนวนนักศึกษาสองห้องเรียนโดยเปิดทำการเรียนการสอนหลักสูตร 4 ปี (ภาคปกติวันจันทร์- ศุกร์)

                    ต่อมาในปีการศึกษา 2545 ศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาภาคพิเศษจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์และเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรรายวิชาชีพครู (ปวค.)

                   ศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์มีจำนวนนักศึกษาเพิ่มมากขึ้นทุกปีการศึกษาจากปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นบุคลากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้การบริหารจัดการในรูปแบบศูนย์การศึกษาขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์  จึงได้ขอยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยฯ ขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  และได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  ตามมติการประชุมของสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยครั้งที่ 2/2550 มติที่ 22/2550 เรื่องขออนุมัติยกฐานะศูนย์การศึกษากาฬสินธุ์ และตามประกาศข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  ว่าด้วยการจัดตั้งส่วนงาน  (ฉบับที่  3)  พ.ศ. 2550  (30  เมษายน  2550)  ราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่  124  ตอนพิเศษ  96  ง  14  สิงหาคม  2550

                 ปัจจุบันในปีการศึกษา 2564 วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  เปิดสอนระดับปริญญาตรี  ดังนี้ฯ

        ระดับปริญญาตรี  ภาคปกติ (เรียนจันทร์ - ศุกร์) เปิดสอน 2  คณะ   4  สาขาวิชา ดังนี้

  1. คณะศึกษาศาสตร์

            - สาขาวิชาการสอนภาษาไทย                                หลักสูตร 5 ปี/4 ปี

            - สาขาวิชาการสอนพระพุทธศาสนา                         หลักสูตร 5 ปี/4 ปี

            - สาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา                               หลักสูตร 4 ปี

  1. คณะสังคมศาสตร์

           - สาขาวิชาการปกครอง                                        หลักสูตร 4 ปี

        ระดับปริญญาตรีภาคนอกเวลาราชการ  เปิดสอน 1  คณะ   1  สาขาวิชา ดังนี้

  1. คณะสังคมศาสตร์

          - สาขาวิชาการปกครอง                                         หลักสูตร 4 ปี

1.2 ปรัชญา ปณิธาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์

1.2.1  ปรัชญามหาวิทยาลัย  (Philosophy)

          “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา”

           Academic Excellence based on Buddhism

          (วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์  ใช้ปรัชญาสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย)

1.2.2  ปณิธาน ( Aspiration )

                   มุ่งเน้นให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา พัฒนากระบวนการดำรงชีวิตในสังคมด้วยศีลธรรม ชี้นำและแก้ไขปัญหาสังคมด้วยหลักพุทธธรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

 

          1.2.3  วิสัยทัศน์ ( Vision Statements )

                   (1) เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ

                   (2) เป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของมวลชนที่ผลิตบัณฑิตตามแนวพระพุทธศาสนาและบุคลากรด้านต่างๆ ที่มีความรู้ ความสามารถ มีศีลธรรมในการดำรงชีวิตแบบพุทธ

                   (3) เป็นศูนย์กลางแห่งภูมิปัญญาทางพระพุทธศาสนาของโลกที่สามารถชี้นำและยุติความขัดแย้งในสังคมโดยใช้หลักพุทธธรรม

                   (4) เป็นสถาบันที่เน้นทำวิจัยพัฒนาตามกรอบแห่งศีลธรรมส่งเสริมงานวิจัยเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนาและนำผลการวิจัยไปพัฒนาสังคมและคณะสงฆ์ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

 1.2.4  พันธกิจ ( Mission Statements )

                   (1) ผลิตบัณฑิตทางด้านพระพุทธศาสนาให้มีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยและกระจายโอกาสให้พระภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์และผู้สนใจมีโอกาสศึกษามากขึ้น

                   (2) ให้บริการวิชาการแก่สังคม ชุมชนและท้องถิ่น โดยเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนา  เพื่อมุ่งเน้นการเผยแผ่พุทธธรรม การแก้ปัญหาสังคม การนำไปประยุกต์ในชีวิตประจำวันให้เกิดสันติสุข การชี้นำสังคมในทางสร้างสรรค์และการยุติข้อขัดแย้งด้วยหลักวิชาการพระพุทธศาสนา

                   (3) วิจัยและพัฒนางานวิชาการเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนา  เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและเผยแพร่องค์ความรู้ในระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทันสมัย

                   (4) รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม  เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งค้นคว้าทำนุบำรุงรักษาภูมิปัญญาไทยและท้องถิ่น  รวมทั้งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม

 

1.3 โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างการบริหาร