
รายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับคณะ/วิทยาเขต/วิทยาลัย ปีการศึกษา 2564
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช
บทสรุปผู้บริหาร
จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในกลุ่ม ค2 (สถาบันเฉพาะทางที่เน้นระดับปริญญาตรี) ได้คะแนนการประเมินตนเอง คะแนนเฉลี่ย 4.12 อยู่ในระดับดี โดยมีรายละเอียดผลการดำเนินงานทั้ง 5 องค์ประกอบ ดังนี้
องค์ประกอบที่ 1 การผลิตบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีระบบและกลไกการเปิดหลักสูตรตามแนวทางปฏิบัติที่กำหนดโดยคณะกรรมการการอุดมศึกษา และดำเนินการตามระบบ ที่กำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา และเพื่อให้การบริหารงานด้านวิชาการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคณะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 1 นี้เท่ากับคะแนนเฉลี่ย 3.82 อยู่ในระดับดี
องค์ประกอบที่ 2 งานวิจัย มหาวิทยาลัยมีการจัดตั้งสถาบันวิจัยญาณสังวรเพื่อวางนโยบายและแผนยุทธศาสตร์งานวิจัย โดยจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นทุนวิจัยหรืองานสร้างสรรค์ ทางมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีการส่งเสริมการทำวิจัยของอาจารย์ และอาจารย์ผู้สอนมีความสนใจเรื่องการทำวิจัย ดังมีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 2 นี้เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 3.55 อยู่ในระดับดี
องค์ประกอบที่ 3 การบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีการจัดโครงการบริการทางวิชาการแก่สังคม แต่โครงการมีการบูรณาการในเรื่องของการวิจัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนและสังคม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช จึงมีการวางแผนการจัดทำโครงการให้บูรณาการกับการเรียนการสอนในปีการศึกษาต่อไป และผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 3 นี้เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 5.00 อยู่ในระดับดีมาก
องค์ประกอบที่ 4 การทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ร่วมกับมหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายและแนวทางการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มีโครงการบูรณาการงานด้านทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม กับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมนักศึกษา และสรุปการดำเนินงานโครงการด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 4 นี้เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 5.00 อยู่ในระดับดีมาก
องค์ประกอบที่ 5 การบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีทิศทางการดำเนินงานและสามารถถ่ายทอดไปยังบุคลากรทุกระดับ และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการโดยมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และต้องบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ เช่น ทรัพยากรบุคคล ระบบฐานข้อมูล การบริหารความเสี่ยง การบริหารการเปลี่ยนแปลง การบริหารทรัพยากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีผลการประเมินตนเองในองค์ประกอบที่ 5 นี้เท่ากับ คะแนนเฉลี่ย 5.00 อยู่ในระดับดีมาก
บทนำ
1.1 ชื่อหน่วยงาน ที่ตั้ง และประวัติความเป็นมาโดยย่อ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ตั้งอยู่เลขที่ 128 หมู่ที่ 6 ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
โทร. 075-809128-9 | http://www.ssc.mbu.ac.th
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นสถาบันการศึกษา ที่ตั้งขึ้นโดยพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2436 ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ได้จัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยวัตถุประสงค์ตามที่สมเด็จมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงตั้งไว้ 3 ประการ คือ
1) เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์
2) เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตรทั้งหลาย
3) เพื่อเป็นสถานที่จัดสั่งสอนพระพุทธศาสนา
จนถึง ในปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ให้เป็น มหาวิทยาลัยของรัฐเป็นนิติบุคคล (มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ) เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริม และให้บริการวิชาการพรุทธศาสนาแก่ภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ขยายการศึกษาออกไปเปิดวิทยาเขต ในส่วนภูมิภาค รวม 7 วิทยาเขต 3 วิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ได้ก่อตั้งและเปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 มีสถานที่ตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งวิทยาเขตแห่งนี้ได้ดำเนินการก่อตั้งโดย พระธรรมรัตโนภาส (ประดับ โอภาโส) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช (ธรรมยุต) ได้เล็งเห็นว่า มีพระภิกษุ-สามเณรในส่วนภูมิภาคเป็นจำนวนมาก ที่มีความประสงค์จะศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่สามารถเข้าไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพมหานครได้ เนื่องจากข้อจำกัด เรื่องการหาที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ได้นั้นค่อนข้างลำบาก จึงได้ขอขยายวิทยาเขตออกมาตั้ง ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชอันเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ และได้นำเอาพระนามของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ของเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต และทรงเป็นผู้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นชื่อของวิทยาเขตเพื่อเป็นมงคลนาม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็นวิทยาเขตเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535 ตามคำสั่งสภาการศึกษามหาวิทยาลัย ที่ 26/2535
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2554 วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช ได้ย้ายสถานที่ทำการเรียนการสอนไปยังอาคารเรียน ภายในวัดป่าห้วยพระ หมู่ที่ 5 ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากสถานที่ตั้งของวิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชภายในวัดป่าห้วยพระ อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง และมีความยากลำบากในการเดินทางของนักศึกษา พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีในสมัยนั้น ได้มอบนโยบายว่าสถานที่ตั้งของวิทยาเขตควรอยู่ในทำเลที่เหมาะสม คณะผู้บริหารวิทยาเขตจึงได้เสนอโครงการขออนุมัติจัดซื้อที่ดินเพื่อขยายวิทยาเขต ในปี พ.ศ. 2555 และเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2564ได้ย้ายสถานที่ทำการเรียนการสอนมาที่แห่งใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 128 หมู่ที่ 6 ตำบลนาพรุ อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช และในปี พ.ศ. 2565 วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชได้เปิดทำการเรียนการสอนครบรอบ 30 ปี โดยเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้พระพุทธศาสนาและสังคมมาแล้วเป็นจำนวนมาก
ศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส (ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์)
สีประจำมหาวิทยาลัย
สีส้ม หมายถึง สีประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยามหาราช ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี อันเป็นพระบรมราชสมภพ
คติพจน์ประจำมหาวิทยาลัย
ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์
ตราสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระมหามงกุฎ และอุณาโลม สื่อความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”
พระเกี้ยวยอด สื่อความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ พระผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “มหามกุฏราชวิทยาลัย” และพระราชทานทรัพย์บำรุง ปีละ 60 ชั่ง
หนังสือ สื่อหมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา เพื่อการศึกษาค้นคว้า และเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ สื่อหมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน การพิมพ์เผยแพร่คัมภีร์และการผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นทั้งสถาบันศึกษาและแหล่งผลิตตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา
ช่อดอกไม้แย้มกลีบ สื่อความหมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญา และวิทยาการในทางพระพุทธศาสนา และหมายถึง กิตติศัพท์กิตติคุณที่ฟุ้งขจรไป ดุจกลิ่นแห่งดอกไม้
ธงชาติไทย สื่อความหมายถึง อุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่มุ่งพิทักษ์สถาบันหลักทั้ง 3 คือ ชาติไทย พระพุทธศาสนา และพระมหากษัตริย์
พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ สื่อความหมายถึง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา
วงรัศมี สื่อความหมายถึง แสงสว่างแห่งปัญญา วิสุทธิ สันติ และกรุณา ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมุ่งสาดส่องไปทั่วโลก
แพรแถบสีส้มระบุนามมหามกุฏราชวิทยาลัย สื่อความหมายถึง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยอันเป็นสถาบันการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระดับอุดมศึกษา
1.2 ปรัชญา ปณิธาน เป้าหมายและวัตถุประสงค์
ปรัชญา
ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา (Academic Excellence based on Buddhism)
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มุ่งที่จะผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ดีทั้งทางโลกและทางธรรม มีความสามารถในการคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น มีคุณธรรมประจำกาย วาจา ใจ มีอุดมคติและอุดมการณ์ มุ่งอุทิศชีวิตบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ผู้อื่น
ปณิธาน
มีความมุ่งมั่นที่จะผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพโดยให้มีความรู้ดีทั้งทางโลกและทางธรรมมีความสามารถดีในการคิดเป็นพูดเป็นทำเป็นมีคุณธรรมและจริยธรรมประจำกายวาจาใจมีอุดมคติและมีอุดมการณ์มุ่งอุทิศชีวิตบำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่นเพื่อให้บัณฑิตเข้าใจโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้งสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างราบรื่นและเป็นปกติสุข
วิสัยทัศน์
1) วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราชจะมุ่งพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องมีระบบบริหารจัดการและระบบประกันคุณภาพที่ดีสามารถให้ความเชื่อมั่นแก่สังคมได้ว่ามหาวิทยาลัยในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาได้ปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยอย่างมีคุณภาพและทันสมัย
2) เป็นสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน ที่มุ่งผลิตบัณฑิตตามแนวทางพระพุทธศาสนาให้มีความรู้ความสามารถและมีศีลธรรมในการดำรงชีวิตแบบพุทธ
3) เป็นสถาบันที่ดำรงคุณค่าและอุดมการณ์ของการเป็นประชาคมแห่งการสร้างสรรค์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และเพื่อนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
4) จะมุ่งมั่นพัฒนาสถาบันให้มีการทำวิจัยเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนาเพื่อนำผลการวิจัยไปพัฒนาสังคมและคณะสงฆ์ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
พันธกิจ
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช มีภารกิจที่จะต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันอย่างมีระบบและต่อเนื่องตลอดจนเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยแก่สาธารณชนทั้งนี้โดยให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยนโยบายของทบวง มหาวิทยาลัยและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยมีพันธกิจดังต่อไปนี้
1) พัฒนากระบวนการผลิตบัณฑิตของวิทยาเขตฯ ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน
2) ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถาบันอย่างต่อเนื่อง
3) การถ่ายทอดและมีการบริการทางวิชาการแก่ชุมชนในท้องถิ่นเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ
4) แสวงหาความร่วมมือด้านต่างๆจากสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ
5) ส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนางานวิชาการเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมการเมืองและความต้องการของท้องถิ่น
1.3 โครงสร้างองค์กร และโครงสร้างการบริหาร
การจัดรูปแบบการบริหารมหาวิทยาลัย เป็นการจัดตามความในมาตราที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 และเป็นการจัดตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามความในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ที่กำหนดให้รัฐมนตรี (กระทรวงศึกษาธิการ) มีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตราที่ 6 คือ “วัตถุประสงค์ให้การศึกษา วิจัยส่งเสริม และการให้บริการทางพระพุทธศาสนา แก่พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ รวมทั้งการบำรุงศิลปวัฒนธรรม” การจัดโครงสร้างและระบบการบริหารมหาวิทยาลัย ในแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรมีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ตามความในมาตรานั้นๆ โดยอาจจำแนกองค์กรหรือหน่วยงานหลักๆ ได้ดังนี้